วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

Lesson 4 

บันทึกอนุทิน


วิชา การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทางการศึกษาปฐมวัย
(Learning Experiences Management in Early Childhood Education)
อาจารย์ผู้สอน : อ.จินตนา  สุขสำราญ                           
ประจำวันที่ : 20 กุมภาพันธ์ 2560
เรียนครั้งที่่ :  4 เวลา 11.30-14.30 น.                                   
กลุ่ม  102 วันจันทร์ ห้อง 34-301



Knowledge (ความรู้)

การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย

1. ที่มาของหน่วย 
         มาจากหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย คือ สาระที่เด็กควรเรียนรู้ ได้แก่

             1.เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก
             2.เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก
             3.ธรรมชาติรอบตัว
             4. สิ่งต่างๆรอบตัวเด็ก

2. ทำ Mind Mapping 
          แสดงในสิ่งที่เด็กควรเรียนรู้ในหน่วยนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก

3. ออกแบบการจัดประสบการณ์
       
          - ยึดหลักของทฤษฎีพัฒนาการ เช่น  ทฤษฎีพัฒนาการของ Piaget 

              เพียเจต์ (Piaget) ได้ศึกษาเกี่ยวกับ พัฒนาการทางด้านความคิดของเด็กว่ามีขั้นตอนหรือกระบวนการ อย่างไร ทฤษฎีของเพียเจต์ตั้งอยู่บนรากฐานของทั้งองค์ประกอบที่เป็นพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เขาอธิบายว่า การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น พัฒนาการเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรที่จะเร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก แต่การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงที่เด็กกำลังจะพัฒนาไปสู่ ขั้นที่สูงกว่า สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เพียเจต์เน้นความสำคัญของการเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กมากกว่าการ กระตุ้นเด็กให้มีพัฒนาการเร็วขึ้น เพียเจต์สรุปว่า พัฒนาการของเด็กสามารถอธิบายได้โดยลำดับระยะพัฒนาทางชีววิทยาที่คงที่ แสดงให้ปรากฏโดยปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสิ่งแวดล้อม
หลักพัฒนาการตามแนวคิดทฤษฎีนั้นเป็นอย่างไร
              เพียเจต์ ให้ชื่อการพัฒนาการของเด็กวัยรุ่นหรือวัยมัธยมศึกษาว่า Formal Operation สามารถคิดได้แบบผู้ใหญ่ คือ
       -      คิดในสิ่งที่เป็นนามธรรมได้        
       -      มีความสนใจในปรัชญาชีวิต ศาสนา อาชีพ
       -      สามารถใช้เหตุผลเป็นหลักในการตัดสินใจ
       -      สามารถคิดเหตุผลได้ทั้งอนุมานและอุปมาน
       -      มีหลักการในการให้เหตุผลของตนเอง เกี่ยวกับความยุติธรรม เสมอภาคและมีมนุษยธรรม

ทฤษฎีการเรียนรู้ 
   ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ มีสาระสรุปได้ดังนี้
      พัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลเป็นไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น ดังนี้
1.   ขั้นประสาทรับรู้และการเคลื่อนไหว (Sensori-Motor Stage)  เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปี พฤติกรรมของเด็กในวัยนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่
2.   ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (Preoperational Stage)  เริ่มตั้งแต่อายุ 2-7 ปี แบ่งออกเป็นขั้นย่อยอีก 2 ขั้น คือ
- ขั้นก่อนเกิดสังกัป (Preconceptual Thought) เป็นขั้นพัฒนาการของเด็กอายุ 2-4 ปี เป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีเหตุผลเบื้องต้น สามารถจะโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์2เหตุการณ์ หรือมากกว่ามาเป็นเหตุผล เกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน แต่เหตุผลของเด็กวัยนี้ยังมีขอบเขตจำกัดอยู่
 - ขั้นการคิดแบบญาณหยั่งรู้ นึกออกเองโดยไม่ใช้เหตุผล (Intuitive Thought) เป็นขั้นพัฒนาการของเด็ก อายุ 4-7 ปี ขั้นนี้เด็กจะเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รวมตัวดีขึ้น รู้จักแยกประเภทและแยกชิ้นส่วนของ
3.   ขั้นปฏิบัติการคิดด้านรูปธรรม (Concrete Operation Stage)  เริ่มจากอายุ 7-11 ปี พัฒนาการทางด้านสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้สามารถสร้างกฎเกณฑ์และตั้งเกณฑ์ในการแบ่งสิ่งแวดล้อมออกเป็นหมวดหมู่ได้
4.   ขั้นปฏิบัติการคิดด้วยนามธรรม (Formal Operational Stage)   เริ่มจากอายุ 11-15 ปี ในขั้นนี้พัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้เป็นขั้นสุดยอด คือเด็กในวัยนี้จะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ ความคิดแบบเด็กจะสิ้นสุดลง เด็กจะสามารถที่จะคิดหาเหตุผลนอกเหนือไปจากข้อมูลที่มีอยู่
              พัฒนาการทางการรู้คิดของเด็กในช่วงอายุ 6 ปีแรกของชีวิต ซึ่งเพียเจต์ ได้ศึกษาไว้เป็นประสบการณ์สำคัญที่เด็กควรได้รับการส่งเสริม มี 6 ขั้น ได้แก่
1. ขั้นความรู้แตกต่าง (Absolute Differences) เด็กเริ่มรับรู้ในความแตกต่างของสิ่งของที่มองเห็น
2. ขั้นรู้สิ่งตรงกันข้าม (Opposition) ขั้นนี้เด็กรู้ว่าของต่างๆ มีลักษณะตรงกันข้ามเป็น 2 ด้าน เช่น มี-ไม่มี หรือ เล็ก-ใหญ่
3. ขั้นรู้หลายระดับ (Discrete Degree) เด็กเริ่มรู้จักคิดสิ่งที่เกี่ยวกับลักษณะที่อยู่ตรงกลางระหว่างปลายสุดสอง ปลาย เช่น ปานกลาง น้อย
4. ขั้นความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง (Variation) เด็กสามารถเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เช่น บอกถึงความเจริญเติบโตของต้นไม้
5. ขั้นรู้ผลของการกระทำ (Function) ในขั้นนี้เด็กจะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลง
6. ขั้นการทดแทนอย่างลงตัว (Exact Compensation) เด็กจะรู้ว่าการกระทำให้ของสิ่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลต่ออีกสิ่งหนึ่งอย่างทัดเทียมกัน

กระบวนการทางสติปัญญามีลักษณะดังนี้ 
1. การซึมซับหรือการดูดซึม (assimilation) เป็นกระบวนการทางสมองในการรับประสบการณ์ เรื่องราว และข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาสะสมเก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
2. การปรับและจัดระบบ (accommodation) คือ กระบวนการทางสมองในการปรับประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่ให้เข้ากันเป็น ระบบหรือเครือข่ายทางปัญญาที่ตนสามารถเข้าใจได้ เกิดเป็นโครงสร้างทางปัญญาใหม่ขึ้น
3. การเกิดความสมดุล (equilibration) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากขั้นของการปรับ หากการปรับเป็นไปอย่างผสมผสานกลมกลืนก็จะก่อให้เกิดสภาพที่มีความสมดุลขึ้น หากบุคคลไม่สามารถปรับประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เดิมให้เข้ากันได้ ก็จะเกิดภาวะความไม่สมดุลขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาขึ้นในตัวบุคคล

การนำไปใช้ในการจัดการศึกษา / การสอน 
         เมื่อทำงานกับนักเรียน ผู้สอนควรคำนึงถึงพัฒนาการทางสติปํญญาของนักเรียนดังต่อไปนี้
นักเรียนที่มีอายุเท่ากันอาจมีขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ควรเปรียบเทียบเด็ก ควรให้เด็กมีอิสระที่จะเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของเขาไปตามระดับพัฒนาการของเขา นักเรียนแต่ละคนจะได้รับประสบการณ์ 2 แบบคือ     - ประสบการณ์ทางกายภาพ (physical experiences) จะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนแต่ละคนได้ปฏิสัมพันธ์กับวัตถุต่าง ในสภาพแวดล้อมโดยตรง
- ประสบการณ์ทางตรรกศาสตร์ (Logicomathematical experiences) จะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนได้พัฒนาโครงสร้างทางสติปัญญาให้ความคิดรวบยอดที่ เป็นนามธรรม
หลักสูตรที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ
- เน้นพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนโดยต้องเน้นให้นักเรียนใช้ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด
- เสนอการเรียนการเสนอที่ให้ผู้เรียนพบกับความแปลกใหม่
- เน้นการเรียนรู้ต้องอาศัยกิจกรรมการค้นพบ
- เน้นกิจกรรมการสำรวจและการเพิ่มขยายความคิดในระหว่างการเรียนการสอน
- ใช้กิจกรรมขัดแย้ง (cognitive conflict activities) โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นนอกเหนือจากความคิดเห็นของตนเอง
การสอนที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนควรดำเนินการดังต่อไปนี้
- ถามคำถามมากกว่าการให้คำตอบ
- ครูผู้สอนควรจะพูดให้น้อยลง และฟังให้มากขึ้น
- ควรให้เสรีภาพแก่นักเรียนที่จะเลือกเรียนกิจกรรมต่าง ๆ
- เมื่อนักเรียนให้เหตุผลผิด ควรถามคำถามหรือจัดประสบการณ์ให้นักเรียนใหม่ เพื่อนักเรียนจะได้แก้ไขข้อผิดพลาดด้วยตนเอง
- ชี้ระดับพัฒนาการทางสติปัญญาของนักเรียนจากงานพัฒนาการทางสติปัญญาขั้นนามธรรมหรือจากงานการอนุรักษ์ เพื่อดูว่านักเรียนคิดอย่างไร
- ยอมรับความจริงที่ว่า นักเรียนแต่ละคนมีอัตราพัฒนาการทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน
- ผู้สอนต้องเข้าใจว่านักเรียนมีความสามารถเพิ่มขึ้นในระดับความคิดขั้นต่อไป
- ตระหนักว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเพราะจดจำมากกว่าที่จะเข้าใจ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่แท้จริง (pseudo learning)
ในขั้นประเมินผล ควรดำเนินการสอนต่อไปนี้
- มีการทดสอบแบบการให้เหตุผลของนักเรียน
- พยายามให้นักเรียนแสดงเหตุผลในการตอนคำถามนั้น ๆ
- ต้องช่วยเหลือนักเรียนทีมีพัฒนาการทางสติปัญญาต่ำกว่าเพื่อร่วมชั้น
ในการจัดการเรียนรู้ให้วัยรุ่นควรจัดให้รู้จัดคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหา เช่น การแก้ปัญหาโดยใช้หลักการวิทยาศาสตร์ การสอนแบบใช้ความคิดรวบยอด

         -ยึดหลักทฤษฎีการเรียนรู้  เช่น ทฤษฎีของจอห์น ดิวอี้ "การเรียนรู้โดยการลงมือทำ" (Learning by doing)

การเรียนรู้โดยการลงมือทำมีที่มาอย่างไร?

           การเรียนรู้โดยลงมือกระทำมาจากปรัชญาหรือความเชื่อของปรัชญา พิพัฒนาการนิยม (Progressivism) หรือบางท่านเรียกปรัชญาการศึกษานี้ว่า ปรัชญาพิพัฒนาการ ปรัชญานี้มีต้นกำเนิดมาจากปรัชญาแม่บทคือ ปรัชญาปฏิบัตินิยม ปรัชญาปฏิบัตินิยมให้ความสนใจอย่างมากต่อ “การปฏิบัติ หรือ การลงมือกระทำ” เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ เด็กได้รับอิสระริเริ่มความคิดและลงมือทำตามความคิด ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์และใช้กระบวนการแก้ปัญหาด้วยตนเองคือ การให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญที่จะสืบค้นหาความรู้ นักการศึกษาที่มีชื่อเสียงที่มีความเชื่อปรัชญาการศึกษานี้คือ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) เป็นผู้นำนักปราชญ์ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์จะต้องปรับตัวเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด จึงมีวลีที่แพร่หลายและนำมาใช้ในการจัดการศึกษาคือ “Learning by doing” “หรือการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง” แนวคิดของจอห์น ดิวอี้ คือแนวคิดเรื่องการปรับตัว จอห์น ดิวอี้ ตระหนักเรื่อง “การปรับตัว” ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญและจะ ต้องนำไปใช้เป็นแนวคิดของการจัดการศึกษา หรือเป็นแก่นแห่งการศึกษา มนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหา จึงต้องฝึกให้มนุษย์แก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำ ฝึกปฏิบัติ ฝึกคิด ฝึกลงมือทำ ฝึกทักษะกระบวนการต่างๆ ประสบการณ์ที่มนุษย์พบหรือเผชิญ มีอยู่ 2 ประเภทคือ ขั้นปฐมภูมิ เป็นประสบการณ์ที่ไม่เป็นความรู้ หรือยังไม่ได้คิดแบบไตร่ตรอง และขั้นทุติยภูมิคือที่เป็นความรู้ ได้ผ่านการคิดไตร่ตรอง ประสบการณ์ขั้นแรกจะเป็นรากฐานของขั้นที่สอง ปรัชญาของ จอห์น ดิวอี้ เป็นปรัชญาที่ยกย่องประสบการณ์ ผู้เรียนต้องเรียนรู้จากการกระทำในสถานการณ์จริง การศึกษาตามทัศนะของจอห์น ดิวอี้คือ ความเจริญ งอกงามทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา การจัดกระบวนการเรียน รู้ที่เน้นการปฏิบัติจริง เป็นการจัดกิจกรรมในลักษณะกลุ่มปฏิบัติการที่เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงจากการเผชิญสถาน การณ์จริงและการแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำ ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ฝึกคิด ฝึกลงมือทำ ฝึกทักษะกระบวน การต่างๆ ฝึกการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และฝึกทักษะการเสาะแสวงหาความรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม กระบวนการเรียนรู้แบบแก้ ปัญหา เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนคิดเป็นและแก้ปัญหาเป็น โดยการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ บางครั้งก็เรียนวิธีสอนนี้ว่าการสอนแบบวิทยาศาสตร์


การเรียนรู้โดยการลงมือทำมีลักษณะอย่างไร?

         การจัดการเรียนรู้โดยลงมือกระทำมีลักษณะสำคัญดังนี้มีจุดมุ่งหมาย

  • มุ่งให้ผู้เรียนนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการแก้ปัญหาไปใช้ในการตัดสินใจ 
  • จัดการเรียนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นความถนัดและความสนใจ 
  • ครูมีลักษณะของการเป็นผู้รอบรู้และมีประสบการณ์ ยอมรับความแตกต่างของผู้เรียน 
  • ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางรับประสบการณ์จากการกระทำของตนเอง ผู้เรียนได้ทดลอง ทำปฏิบัติ สืบเสาะหาข้อมูล จัดระเบียบข้อมูล หาข้อสรุป และหาวิธีการกระบวนการด้วยตนเอง 
  • จัดหลักสูตรจะเน้นประสบการณ์ของผู้เรียน เป็นหลักสูตรกิจกรรม 


การเรียนรู้โดยการลงมือทำมีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร? 

          การเรียนรู้โดยการลงมือทำ มีประโยชน์ต่อเด็กดังนี้

  • เด็กจะเรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเอง 
  • เด็กจะได้เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ได้แก่ ลำตัว แขน ขา และกล้ามเนื้อเล็กซึ่งได้แก่ นิ้วมือ 
  • เด็กจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทำให้เกิดเป็นประสบการณ์ 
  • เด็กได้รู้จักการสืบค้นหาความรู้เพื่อแก้ปัญหา 
  • เด็กจะได้เข้าใจธรรมชาติ เด็กจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ 
  • เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว เด็กได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น 
  • เด็กจะได้พัฒนาวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ รวมทั้งรับรู้ลักษณะอารมณ์แต่ละชนิด เช่น ชอบกลิ่นหอม แต่ไม่ชอบกลิ่นเหม็น ไม่ชอบเดินเท้าเปล่าเหยียบก้อนหินที่แข็งหยาบ แต่จะรู้สึกชอบเดินบนพรมที่อ่อนนุ่นสบายฝ่าเท้า ไม่ชอบเสียงดนตรีที่แผดเสียงดัง แต่ชอบเสียงดนตรีบรรเลงเพลงเบาๆ เป็นต้น 
  • เด็กจะได้พัฒนาการทางด้านสติปัญญา ได้คิดและเข้าใจความเป็นเหตุผล

 4.การจัดสภาพแวดล้อม
           การสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือกระทำ เด็กจะได้เกิดการเรียนรู้ เช่น
  • การจัดสภาพแวดล้อมแบบบูรณาการผสมผสานให้ศาสตร์ต่างๆรวมกัน (จนมองไม่ออก) เช่น การทำน้ำปั่น ที่มีส่วนผสมกลมกลืนกันจนแยกไม่ออกว่าอะไรคืออะไร

การเขียนแผนการจัดประสบการณ์

1. วัตถุประสงค์ คือ สิ่งที่ต้องการให้เกิดกับเด็ก

2. สาระที่เด็กควรเรียนรู้  คือ สิ่งที่เด็กเรียนรู้

3. แนวคิด คือ คอนเซ็ปของเรื่องที่จะสอน เช่น ไข่มีหลายชนิด เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่นกกระทาเป็นต้น ไข่มีลักษณะที่กลมๆเรียวๆ มีหลายขนาดที่แตกต่างกัน ใหญ่ ปานกลาง และเล็ก เป็นต้น

4. ประสบการณ์สำคัญ คือ มาจากหลักสูตร เป็นพัฒนาการทั้ง4 ด้าน

5. รายวิชา (การบูรณาการ) เช่น
  • กรอบมาตรฐานคณิตศาสตร์
  • กรอบมาตรฐานวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น  การใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
กลุ่มไข่

1) ปัญหา : จะทำยังไงให้ไข่กินได้ ?
2) ตั้งสมมติฐาน : เมื่อนำไข่ไปนึ่ง ทอด ต้ม (ใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง)ไข่จะสุกและสามารถกินได้
3) ทดลอง : ใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสังเกต เมื่อนึ่ง ทอด ต้ม (ใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง) ไข่จะสุกจากของเหลวกลายเป็นของแข็ง สีเปลี่ยนจากไข่ขาวที่มีสีใสจะเปลี่ยนป็นสีขาว 
4) สรุป : พอนึ่ง ทอด ต้ม (ใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง)แล้วไข่สุกสามารถกินได้


กลุ่มนม 

1) ปัญหา : จะทำอย่างไรให้นมเป็นไอศกรีมได้?
2) ตั้งสมมติฐาน : เมื่อนำเกลือไปใส่ในน้ำแข็งนมจะเเข็งตัวได้
3) ทดลอง : ใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสังเกต เมื่อนำเกลือไปใส่ในน้ำแข็ง นมจะเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็งและเป็นไอศกรีมได้
4) สรุป : นำเกลือไปใส่ในน้ำแข็งเกลือไปทำปฏิกิริยากับน้ำแข็งทำให้นมสามารถแข็งตัวได้


กลุ่มดิน

1) ปัญหา : เลือกดินแบบไหนมาปลูกพืช?
2) ตั้งสมมติฐาน : ถ้าเทน้ำลงไปในดินแต่ละชนิด ดินทราย น้ำไหลผ่านได้เร็ว ดินร่วน น้ำไหลผ่านได้ช้ากว่าดินทราย และ ดินเหนียว น้ำไหลผ่านได้ยาก
3) ทดลอง : เทน้ำผ่านดินแต่ละชนิด (หาพืชที่ต้องการน้ำปานกลาง)
4) สรุป : ดินที่เหมาะแก่การปลูกพืช คือ ดินร่วน เนื่องจากน้ำไหลผ่านได้ปานกลาง ไม่เร็วและช้ามากเกินไป


6. แผนที่เครือข่ายใยแมงมุม (Web กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม)



เทคนิคการจัดประสบการณ์หน่วยไข่

  • ร้องเพลง (เกี่ยวกับเรื่องที่จะสอน เช่น เพลงไข่)
  • ถามเด็กว่าในเพลงมีไข่อะไรบ้าง
  • ครูเขียนบันทึก และถามเด็กว่า "นอกจากไข่ที่อยู่ในเพลงแล้ว เด็กๆยังรู้จักไข่อะไรอีกบ้าง)
  • นำตะกร้าใส่ไข่มาให้เด็กดู โดยนำผ้ามาคลุมไว้ และถามเด็กว่า "ในตะกร้าที่คุณครูนำมานี้มีอะไรอยู่ในนี้" 
  • ถามเด็กว่า " เด็กๆคิดว่ามีไข่ในตะกร้าประมาณกี่ฟอง (เด็กจะเกิดการคาดคะเนจากลักษณะและขนาดของตะกร้า)
  • นำไข่ออกมานับ โดยเรียงเพื่อให้เด็กเห็นได้ชัดเจน  หลังจากที่นับแล้วให้เด็กบอกจำนวน(คำถามคณิตศาสตร์)แล้วเขียนจำนวนด้วยเลขฮินดูอารบิกมากำกับแทนค่าจำนวนที่นับได้
  • จัดกลุ่มประเภทของไข่ (ไข่ไก่กับที่ไม่ใช่ไข่ไก่) จากนั้นให้นับจำนวนไข่ไก่และที่ไม่ใช่ไข่ไก่
  • ให้เด็กเปรียบเทียบ(เด็กจะตอบตามที่ตาเห็น ซึ่งอยู่ในขั้นอนุรักษ์) โดยให้เด็กจับคู่ 1 ต่อ 1 ออกทีละคู่ ถ้าไข่ไก่ยังเหลือแสดงว่าไข่ไก่มีจำนวนมากกว่าที่ไม่ใช่ไข่ไก่


การทดสอบสอนกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ 

หน่วยไข่  เรื่อง ประเภทของไข่ (วันจันทร์) 
  • การเคลื่อนไหวตามจังหวะและสัญญาณ
  • การฟังและปฏิบัติตามคำสั่งหรือข้อตกลง
  • การฝึกความจำ




หน่วยดิน เรื่อง ประเภทของดิน (วันจันทร์)
  • การเคลื่อนไหวตามจังหวะและสัญญาณ
  • การเคลื่อนไหวประกอบเพลง
  • ผู้นำผู้ตาม



หน่วยนม เรื่อง ประเภทของนม (วันจันทร์)
  • การเคลื่อนไหวตามจังหวะและสัญญาณ
  • การเคลื่อนไหวประกอบอุปกรณ์





Skill (ทักษะ)

- การคิดวิเคราะห์
- การตอบคำถาม
- การประยุกต์ใช้ความรู้


Application  (การประยุกต์ใช้)
               
        นำความรู้ที่ได้ในวันนี้ ไปใช้ในจัดประสบการณ์ให้แก่เด็ก เวลาเขียนแผนการจัดประสบการณ์ต้องให้สอดคล้องกับพัฒนาการและวิธีการเรียนรู้ของเด็ก และนำเทคนิคต่างๆที่อาจารย์สอนไปสอดแทรกในระหว่างสอนเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีความน่าสนใจ และนำคำแนะนำของอาจารย์ไปปรับปรุงตนเองให้ดีมากขึ้น


Technical Education (เทคนิคการสอน)

- เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
- ใช้คำถามในการกระตุ้นผู้เรียน
- เทคนิคการใช้คำถาม


Evaluation (การประเมิน)  

Self: เข้าเรียนตรงต่อเวลา แต่งกายเรียบร้อย ตั้งใจเรียนและจดในสิ่งอาจารย์สอน
Friend : ตั้งใจเรียน ช่วยกันตอบคำถาม
Teacher : เข้าสอนตรงเวลา แต่งกายเรียบร้อย เวลาสอนก็จะสอนแบบละเอียด อธิบายเพิ่มเติมจากสิ่งที่นักศึกษาทำ แนะแนวทางให้งานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น คอยกระตุ้นให้นักศึกษากระตือรือล้นในการเรียน และใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล สูง ต่ำ ตามจังหวะของการสอน และสอดแทรกเทคนิคที่ดีในระหว่างที่เรียน






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น